สารเร่งเนื้อแดง…เนื้อสีสดที่มากด้วยอันตราย
ค่านิยมการบริโภคเนื้อสีแดงสดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมู คงกำลังจะหลายเป็นค่านิยมที่ผิด เพราะสีสดๆ ในเนื้อสัตว์นั้นไม่ใช่สีที่แสดงถึงความสด หากแต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงอันตรายจากสารแปลกปลอมที่แทรกซึมอยู่ภายใต้ชิ้นเนื้อของสัตว์ที่มนุษย์เตรียมจะนำไปประกอบอาหาร ซึ่งได้รับการเรียกว่า “สารเร่งเนื้อแดง”
สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารเคมีในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ได้แก่ สารซาลบูทามอล และสารเคลนบูเทอรอล ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการโรคหอบหืด โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ และมีผลข้างเคียง ซึ่งจะทำให้มีชั้นไขมันลดลง ปัจจุบันได้มีฟาร์มหัวใสบางฟาร์ม นำสารเคมีดังกล่าวไปผสมในอาหารสำหรับการเลี้ยงหมู เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของหมู ทำให้กล้ามเนื้อขยายใหญ่ขึ้น มีปริมาณไขมันน้อยลง จึงมีปริมาณกล้ามเนื้อ หรือเนื้อแดงเพิ่มขึ้น มีสีแดงสด ซึ่งแม้สารดังกล่าวจะนิยมใช้ในหมู แต่ยังพบว่ามีบางส่วนใช้ผสมเป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงวัวและไก่ด้วย
การได้รับสารเร่งเนื้อแดงในอาหารเป็นประจำหรือในปริมาณมาก จะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของหลอดลม หลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อสั่น กระตุ้นการเต้นของหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย วิงเวียน และปวดศีรษะ จึงเป็นอันตรายมากสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคลมชักและเบาหวาน
ดังนั้น เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีสีแดงเกินไป มีชั้นไขมันบางผิดปกติเพราะแท้ที่จริงแล้วเนื้อหมูจะมีสัดส่วนของเนื้อแดงต่อไขมันประมาณ 2 : 1 หรือเนื้อที่หั่นทิ้งไว้แล้วมีลักษณะค่อนข้างแห้งกว่าปกติ ซึ่งเนื้อหมูที่ดีควรจะมีสีชมพูอ่อนๆ เนื้อแน่น นุ่มเป็นมัน หรือหากไม่แน่ใจควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่น่าเชื่อถือ หรือมีป้ายรับรองจากหน่วยราชการ เช่น ป้ายทองอาหารปลอดภัย หรือตรารับรองของกรมปศุสัตว์ เป็นต้น เพื่อสุขภาพที่ดีของตนเอง และทุกๆ คนในครอบครัว